การพัฒนาแก้วกำบังรังสีชนิดใหม่ในระบบแก้วออกซีฟลูออไรด์
หัวหน้าโครงการ สุวิมล เรืองศรี
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาแก้วออกซีฟลูออไรด์ โดยสูตรแก้วคือ 10CaF2:xGd2O3:(90-x)P2O5 ให้ x คือ ปริมาณความเข้มข้นของ Gd2O3 มีความเข้มข้น 5, 10, 15 และ 20 mol% ตามลำดับ โดยใช้เทคนิคการหลอมและทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็ว จากนั้นได้ทำการศึกษาสมบัติทางกายภาพ ทางแสงและการกำบังรังสี ผลการทดลองพบค่าความหนาแน่นของแก้วตัวอย่างที่เติมความเข้มข้นของ Gd2O3 มีค่าความหนาแน่นของแก้วที่สูงขึ้นเมื่อความเข้มข้นของ Gd2O3 เพิ่มขึ้น ผลการส่องผ่านของแก้วตัวอย่างพบว่าค่าการส่องผ่านแสงเพิ่มขึ้น เมื่อความเข้นข้มของ Gd2O3 เพิ่มสูงขึ้น ผลค่าสัมประสิทธ์การลดทอนเชิงมวล (total mass attenuation coefficients) ของแก้วเพิ่มขึ้นตาม ความเข้มข้นของ Gd2O3 ที่เพิ่มขึ้น ค่าเลขอะตอมยังผล (effective atomic numbers) และค่าความหนาแน่นของอิเล็กตรอน (effective electron densities) ของแก้วตัวอย่าง พบว่ามีแนวโน้มเหมือนกันและมีทิศทางเดียวกันกับค่าสัมประสิทธ์การลดทอนเชิงมวล ค่าความหนาครึ่งค่า (HVL) และค่าความหนาของวัสดุที่ลดลง 10 เท่า (TVL) ของแก้วตัวอย่าง พบว่ามีค่าลดลงเมื่อความเข้มข้นของ Gd2O3 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าแก้วตัวอย่างมีค่าความหนาครึ่งค่าและค่าความหนาของวัสดุที่ลดลง 10 เท่า น้อยกว่าวัสดุคอนกรีตมาตรฐานรวมถึงกระจกทั่วไป แสดงให้เห็นว่าแก้วตัวอย่างสามารถที่จะใช้เป็นวัสดุกำบังรังสีได้
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 85 ถนนมาลัยแมน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
Research and Development Institute, Nakhon Pathom Rajabhat University 85 Malaiman Road, Muang, Nakhon Pathom 73000
โทร 034-261053, โทรสาร 034-261053 E-Mail : research.npru@gmail.com