"องค์พระปฐมเจดีย์"  เป็นปูชนียสถานทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อครั้งพระองค์โปรดให้สมณทูตมาประกาศพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมินักปราชญ์ทางโบราณคดีมีความเห็นตรงกันว่าสมณทูตในครั้งนั้นคือพระโสณเถระและพระอุตรเถระคณะสมณทูตได้เดินทางมาถึงเมืองถมทองหรือนครปฐมเมื่อปี พ.ศ.235 การเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้ดำเนินตลอดมาโดยมีกษัตริย์ที่ปกครองดินแดนในสุวรรณภูมิยอมรับพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตจนถึงปี พ.ศ.246 พระโสณเถระได้ให้สร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรกในเขตสุวรรณภูมิที่เมืองถมทองนี้ต่อมาได้มีการสร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อปีพ.ศ.265พระภูริยเถระผู้ทำนิมิตพัทธสีมาตั้งชื่อวัดว่า"วัดพุทธบรมธาตุ"ซึ่งถือว่าเป็นวัดแรกและพระเจดีย์องค์แรกของพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้พระปฐมเจดีย์นี้เดิมเป็นสถูปรูปบาตรคว่ำแบบสัญจิเจดีย์ในประเทศอินเดียการบูรณะปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ได้กระทำอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระองค์โปรดให้วัดขนาดขององค์พระเจดีย์รวมความสูง 40 วา 2 ศอก ต่อมาครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จธุดงค์มานมัสการพระเจดีย์นี้และเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ก็ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้เมื่อพ.ศ.2396 มีขนาดสูง 120 เมตร 45เซนติเมตรมีลักษณะเป็นพระเจดีย์รูประฆังคว่ำปากผายโครงสร้างเป็นไม้ซุงก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้องมีพระวิหารทั้งสี่ทิศเชื่อมต่อด้วยคตพระระเบียงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วพระราชทานนามว่า"พระปฐมเจดีย์"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกยอดพระมหามงกุฎของพระปฐมเจดีย์เมื่อปีพ.ศ.2413และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการซ่อมพระวิหารหลวงเขียนภาพตัดขวางให้เห็นพระปฐมเจดีย์องค์เดิมซ่อมพระวิหารด้านทิศเหนือและอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์มาประดิษฐานในพระวิหารด้านทิศเหนือนี้การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ได้กระทำอย่างต่อเนื่องและจริงจังในสมัยรัชกาลปัจจุบันโดยใช้หลักวิทยาการสมัยใหม่เพื่ออนุรักษ์พระปฐมเจดีย์นี้ให้มั่นคงถาวรอยู่คู่ฟ้าเมืองไทยตลอดไป


    "พระราชวัง สนามจันทร์"  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แปรพระราชฐานไปประทับที่นครปฐมบ่อยครั้งทำให้ทรงคุ้นเคยกับภูมิประเทศของเมืองนครปฐมและบริเวณใกล้เคียงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ดำเนินการก่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นเมื่อปี 2450 ไว้เป็นที่มั่น เพื่อเตรียมพร้อมรับวิกฤตการณ์ของประเทศอันอาจเกิดขึ้นเนื่องจากพระองค์ทรงระลึกถึงเหตุการณ์ ร.ศ.112 เมื่อ 13 กรกฎาคม 2436 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบ 2 ลำ รุกล้ำอธิปไตยของไทยบริเวณพื้นที่ดินดอนของนครปฐมนี้จึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมสามารถใช้เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมซ้อมรบเสือป่าและเพื่อแปรพระราชฐานไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถได้พระราชวังสนามจันทร์ประกอบด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆโดยหมู่พระที่นั่งนั้นประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ ที่ออกแบบให้มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน อันได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งวัชรีรมยา และพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ มาที่นี่ต้องดู! ห้องพระเจ้า หอพระประจำพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระเศวตฉัตรกั้นเหนือพระพุทธรูปและมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นภาพเทพพนมแต่งตัวตามแบบเทวดาและมนุษย์ที่ปรากฏในชิ้นศิลาต่างๆที่ขุดได้ในบริเวณใกล้พระปฐมเจดีย์ที่เขียนขึ้นที่นี่ก่อนจะนำไปเขียนที่ผนังพระวิหารหลวง และภาพดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ ณ สถานที่ทั้งสองตราบจนปัจจุบัน


     "วัดมงคลจินดาราม หรือวัดไร่ขิง" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ในบริเวณตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน เป็นวัดที่ชาวนครปฐมและพุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือ ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปหลวงพ่อวัดไร่ขิง ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าได้ลอยตามน้ำมาและได้อัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดแห่งนี้ องค์พระพุทธรูปเป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย พุทธลักษณะงดงามด้วยพุทธศิลป์ 3 สมัย คือพระรูปผึ่งผายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามแบบสุโขทัย และพระพักตร์งดงามในแบบรัตนโกสินทร์มีความศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวกันว่าผู้ใดขอสิ่งใดหากทำคุณงามความดีก็จะสมปรารถนา โดยในช่วงวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 3 ค่ำเดือน 5 ของทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีกิจกรรมการออกร้านค้ามากมาย รวมทั้งมีมหรสพให้ชมหลากหลายรูปแบบ    

 

 


    "พุทธมณฑล" ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา มีพื้นที่กว้างขวางมากถึง 2,500 ไร่ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิด บรรยากาศร่มรื่นและน่าไปเที่ยวชมพักผ่อน สิ่งที่โดดเด่นมากๆ ในพุทธมณฑลก็คือ พระศรีศากยะทศพลญาณ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางลีลาองค์ใหญ่ ตั้งอย่างสง่างามอยู่บริเวณพุทธมณฑลสุทรรศน์ ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สร้างเสร็จและฉลองเมื่อ พ.ศ. 2525 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.

     

 

 


   "ตลาดท่านา" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน (นครชัยศรี) ตำบลนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี เป็นตลาดโบราณอายุกว่า 100 ปี หลังจากการบูรณะ   ซ่อมแซม ที่นี่ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวย ๆ ห้ามพลาดของนครปฐมอีกหนึ่งแห่ง เพราะเรือนห้องแถวไม้สไตล์ไทยโคโลเนียลถูกทาสีสันใหม่   สวยงามน่าถ่ายรูปมาก ๆ อีกทั้งภายในตลาด และรอบ ๆ ตลาดก็มีของกินอร่อย ๆ ให้ไปเดินเลือกซื้อเพียบ อาทิ ก๋วยเตี๋ยวโบราณ, เป็ดพะโล้, ข้าว   หน้าเป็ด, บะหมี่เกี๊ยว, ปลาดุกย่างสะเดาน้ำปลาหวาน, ปลากริมไข่เต่า, บัวลอย, ขนมบ้าบิ่น, ขนมปังเย็น, ข้าวเหนียวย่าง และผัก-ผลไม้ท้องถิ่น   เป็นต้น ตลาดท่านาเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.

 

 

 


    "ตลาดน้ำทุ่งบัวแดง" เป็นตลาดแนวพักผ่อนเชิงธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจะได้มาพักผ่อนกับเพื่อนฝูง คนสนิท และครอบครัว สามารถ  มาชมบัวแดงได้ตลอดทั้งปี  ที่สำคัญ ดอกบัวของทุ่งบัวแดง ณ บางเลน แห่งนี้ ไม่ว่าจะมาเที่ยวในเวลาไหนก็จะเห็นบัวบานได้ตลอดทั้งวันภายในตลาดน้ำมีร้านค้าขายอาหารทั้งคาวหวานให้ได้เลือกซื้อหามากมาย พร้อมบริการนั่งเรือชมทุ่งบัวแดงให้ได้ลงลัดเลาะชมดอกบัวแดงแบบใกล้ๆ จะเซลฟี่กับดอกบัวก็ได้ ภายในตลาดมีมุมถ่ายภาพน่ารักๆ ให้ได้ถ่ายภาพหลายมุม

 

 

 


   "ตลาดน้ำวัดลำพญา" เป็นตลาดที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนหน้าวัดลำพญา ไม่ไกลจากกรุงเทพ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่เหมาะสำหรับผู้ที่นิยมชมชื่น กับบรรยากาศบ้านสวนริมน้ำ ท่ามกลางธรรมชาติ  ตลาดมีทั้งอาหารคาว หวานสูตรโบราณ มีให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอยู่ถึง 15 แพ ตลอดแนวโค้งน้ำมีระทางยาวกว่า 270 เมตร แต่ละแพจะมีเรือแจวขนาดเล็กนำอาหารคาว หวาน พืช ผัก ผลไม้ประจำท้องถิ่น พายมาเสนอขายให้นักท่องเที่ยวกว่าเลือกซื้อหารับประทานได้ตาม อัธยาศัยในราคาไม่แพง

 

 

 


   "ตลาดสุขใจ" ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม สวนสามพราน อำเภอสามพราน เป็นตลาดอินทรีย์ที่สนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งอยู่ในโครงการสามพรานโมเดล นำผลิตภัณฑ์ทั้งผัก-ผลไม้มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงในราคาย่อมเยา อีกทั้งยังมีอาหารพื้นบ้าน ขนมโบราณหากินยาก และของกินนานาชนิดมาจำหน่ายมากมาย บรรยากาศภายในตลาดอบอุ่นและเป็นกันเอง เพราะชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรตัวจริงจะมาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองจึงเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคโดยตรง รับรองได้เลยว่าคุณจะมีแต่รอยยิ้มกลับไป ตลาดสุขใจเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.