การศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมโดยใช้เทคนิค AFLP และปัจจัยบางประการที่มีผลต่อคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย
Study of Genetic Diversity Using AFLP Technique and Factor Affecting Fruit Quality of Aroma Coconut in Western Region of Thailand
หัวหน้าโครงการวิจัย: พงษ์นาถ นาถวรานันต์
บทคัดย่อ
การศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมโดยใช้เทคนิค AFLP และปัจจัยบางประการที่มีผลต่อคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย ในการศึกษาปีที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการผลิตมะพร้าวน้ำหอมในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาครและสมุทรสงคราม โดยคัดเลือกสวนมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ปลูกทั้ง 4 พื้นที่ จังหวัดละ 10 สวนเพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่เก็บข้อมูลด้านการจัดการสวนสำหรับการผลิตมะพร้าวน้ำหอมของพื้นที่ต่างๆ โดยการใช้แบบสัมภาษณ์เกษตรกร รวมรวบข้อมูลและวิเคราะห์ถึงการปฏิบัติของเกษตรกรในแหล่งปลูกทั้ง 4 พื้นที่โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะของการผลิตมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ปลูกทั้ง 4 พื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งระบบการปลูกโดยสวนมะพร้าวอำเภอสามพรานจะปลูกมะพร้าวน้ำหอมแบบคันล้อม ขณะที่พื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว อำเภอดำเนินสะดวก และอำเภออัมพวาจะมีการปลูกแบบยกร่องสวน ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมจากทั้ง 4 พื้นที่มีการดูแลรักษาแตกต่างกันโดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยและการให้น้ำ นอกจากนั้นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกจะเป็นพันธุ์ก้นจีบเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีที่มาของพันธุ์แตกต่างกัน ดัชนีการเก็บเกี่ยวที่เกษตรกรใช้ยังใช้การสังเกตจากลักษณะภายนอกของมะพร้าวและใช้การสังเกตจากจั่นลำดับที่ 3 จากปลายยอด ซึ่งอาจจะเป็นดัชนีที่ไม่แน่นอน ดังนั้นความแตกต่างของลักษณะการผลิตมะพร้าวน้ำหอมระหว่างพื้นที่ปลูกนี้จึงอาจส่งผลต่อคุณภาพของมะพร้าวน้ำหอมจากแหล่งปลูกต่างๆ ได้