การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมปลาสวยงามเพื่อการส่งออกของประเทศไทย
หัวหน้าโครงการ มินท์มันตา หิรัณย์ณภัทร์
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมปลาสวยงามเพื่อการส่งออกของประเทศไทย 2. ศึกษาเปรียบเทียบวิธีปฏิบัติของกิจกรรมโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมปลาสวยงามเพื่อการส่งออกของประเทศไทยไปประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และ 3. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมปลาสวยงามเพื่อการส่งออกของประเทศไทย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นอย่างเป็นสัดส่วน กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม จาก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐมจังหวัดราชบุรี และจังหวัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 133 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง จำนวน 99 ราย ผู้รวบรวม จำนวน 30 ราย และผู้ส่งออก จำนวน 4 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและประชุมกลุ่มย่อยด้วยแบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลโดยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ฯ สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง พบว่า มีต้นทุนโลจิสติกส์รวมเฉลี่ย 0.56 บาทต่อตัว โดยต้นทุนที่มีค่าสูงสุด คือ ค่าขนส่งในการจัดซื้อปัจจัยการเพาะเลี้ยง มีต้นทุนเฉลี่ย 0.31 บาทต่อตัว มีแนวทางการลดต้นทุน คือ การรวบรวมคำสั่งซื้อ และการใช้เชื้อเพลิงทดแทน รองลงมา คือ ค่าจ้างแรงงานในการเตรียมจัดส่งปลามีต้นทุนเฉลี่ย 0.12 บาท
ต่อตัว มีแนวทางการลดต้นทุน คือ กำหนดจำนวนแรงงานให้เหมาะสมกับปริมาณงาน โครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ฯ สำหรับผู้รวบรวม พบว่า มีต้นทุนโลจิสติกส์รวมเฉลี่ย 0.84 บาทต่อตัว โดยต้นทุนที่มีค่าสูงสุด คือ ค่าขนส่งปลาไปยังผู้ส่งออก มีต้นทุนเฉลี่ย 0.21 บาทต่อตัว มีแนวทางการลดต้นทุน คือ การเลือกเส้นทางขนส่งปลาที่มีระยะทางสั้นที่สุด รองลงมา คือ ค่ารวบรวมปลาจากฟาร์ม มีต้นทุนเฉลี่ย 0.15 บาทต่อตัว มีแนวทางการลดต้นทุน คือ รวบรวมปลาจากฟาร์มหลาย ๆ ฟาร์มด้วยระบบมิลค์รัน โครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ฯ สำหรับผู้ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีต้นทุนโลจิสติกส์
รวมเฉลี่ย 6.78 บาทต่อตัว โดยต้นทุนที่มีค่าสูงสุด คือ ค่าบริการจัดส่งปลาผ่านตัวแทนผู้ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา มีต้นทุนเฉลี่ย 5.9 บาทต่อตัว รองลงมา คือ ค่าขนส่งปลาไปคลังสินค้าที่สนามบิน มีต้นทุนเฉลี่ย 0.25 บาทต่อตัว และโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ฯ สำหรับผู้ส่งออกไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า มีต้นทุนโลจิสติกส์รวมเฉลี่ย 4.28 บาทต่อตัว โดยต้นทุนที่มีค่าสูงสุด คือ ค่าบริการจัดส่งปลาผ่านตัวแทนผู้ส่งออกไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีต้นทุนเฉลี่ย 3.37 บาทต่อตัว รองลงมา คือ ค่าขนส่งปลาไปคลังสินค้าที่สนามบิน มีต้นทุนเฉลี่ย 0.3 บาทต่อตัว มีแนวทางการลดต้นทุนค่าบริการจัดส่งปลาผ่านตัวแทนผู้ส่งออก คือ ผู้ส่งออกดำเนินการตรวจรับรองสุขภาพสัตว์น้ำและ/หรือขนส่งปลาไปคลังสินค้าที่สนามบินด้วยตนเอง และแนวทางการลดต้นทุนค่าขนส่งปลา คือ การเลือกเส้นทางขนส่งปลาที่มีระยะทางสั้นที่สุด
ผลการศึกษาเปรียบเทียบวิธีปฏิบัติของกิจกรรมโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมปลาสวยงามเพื่อการส่งออกของประเทศไทยไปประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง พบว่า มีวิธีปฏิบัติเหมือนกันทั้ง 4 กิจกรรม ได้แก่ 1) การจัดซื้อจัดหาปัจจัยการเพาะเลี้ยง 2) การเพาะเลี้ยง 3) การเตรียมจัดส่ง และ 4) การส่งคืน สำหรับวิธีปฏิบัติของผู้รวบรวม พบว่า มีวิธีปฏิบัติที่เหมือนกัน 1 กิจกรรม ได้แก่ การส่งคืน และมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) การวางแผนสั่งซื้อ 2) การรวบรวม และ 3) การจัดส่ง และสำหรับวิธีปฏิบัติของผู้ส่งออก พบว่า มีวิธีปฏิบัติที่เหมือนกัน 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) การรวบรวม และ 2) การส่งคืน และมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน 1 กิจกรรม ได้แก่ การวางแผนสั่งซื้อ
ผลการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของระบบฯ โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน พบว่า ทั้ง 3 ท่าน ประเมินให้อยู่ในระดับดี และผลการประเมินความพึงพอใจในการใช้งานระบบฯ โดยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้รวบรวม และผู้ส่งออก จำนวน 30 ราย พบว่า ความพึงพอใจด้านการทำงานของระบบโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า การแสดงผลรายงานถูกต้องชัดเจนอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ความถูกต้องในการเพิ่มข้อมูลในระบบอยู่ในระดับมากที่สุด ความพึงพอใจด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบของระบบโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า เมนูต่าง ๆ ในระบบใช้งานได้ง่ายอยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ภาษาและรูปภาพที่ใช้มีความสอดคล้องกันอยู่ในระดับมาก และความพึงพอใจด้านการนำไปใช้ประโยชน์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า สามารถนำข้อมูลไปใช้เป็นแนวทางการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของโซ่อุปทานปลาสวยงาม และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมากที่สุด ตามลำดับ