กำลังอัดของคอนกรีตที่ผสมคอนกรีตที่ใช้แล้วแทนมวลรวมหยาบและหินฝุ่นแทนมวลรวมละเอียด
หัวหน้าโครงการ วิศวินทร์ อัครปัญญาธร
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลกระทบด้านความสามารถในการใช้งานและกำลังอัดของคอนกรีตที่ใช้เศษคอนกรีตแทนมวลรวมหยาบจากธรรมขาติ (หินปูนย่อย) ในอัตราส่วนร้อยละ 70, 80, 90 และ 100 โดยปริมาตรของมวลรวมหยาบ และหินฝุ่นแทนมวลรวมละเอียดจากธรรมชาติ (ทรายแม่น้ำ) ในอัตราส่วนร้อยละ 70, 80, 90 และ 100 โดยปริมาตรของมวลรวมละเอียด เป็นส่วนผสม โดยมีอัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสานเท่ากับ 0.65 ทดสอบกำลังอัดของคอนกรีตที่อายุ 1, 3, 7, 14, 21 และ 28 วัน โดยใช้ตัวอย่างทรงกระบอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 150 มม. สูง 300 มม. ผลการทดสอบพบว่าค่าการยุบตัวของคอนกรีตมีแนวโน้มลดลงตามปริมาณการใช้หินฝุ่นแทนทรายธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การใช้เศษคอนกรีตแทนหินธรรมชาติ มีแนวโน้มทำให้ค่าการยุบตัวของคอนกรีตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กำลังอัดของคอนกรีตที่อายุ 28 วัน มีแนวโน้มลดลงตามปริมาณอัตราส่วนของเศษคอนกรีตที่แทนที่หินธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น และการใช้หินฝุ่นแทนที่ทรายธรรมชาติไม่เกินร้อยละ 80 ทำให้ค่ากำลังอัดของคอนกรีตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้หินฝุ่นแทนที่ทรายธรรมชาติมากเกินกว่าร้อยละ 80 จะส่งผลกระทบทำให้ค่ากำลังอัดของคอนกรีตมีแนวโน้มลดลง สำหรับแนวโน้มการพัฒนากำลังอัดของคอนกรีตที่มีหินฝุ่นและเศษคอนกรีตเป็นส่วนผสม พบว่ามีแนวโน้มการพัฒนากำลังอัดที่คล้ายกับคอนกรีตควบคุมที่ใช้ทรายและหินธรรมชาติล้วนเป็นมวลรวม
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 85 ถนนมาลัยแมน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
Research and Development Institute, Nakhon Pathom Rajabhat University 85 Malaiman Road, Muang, Nakhon Pathom 73000
โทร 034-261053, โทรสาร 034-261053 E-Mail : saraban_rdi@npru.ac.th