การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางแสงในช่วงตามองเห็นของแก้วที่เติมธาตุหายากโดยใช้อนุภาคนาโน
หัวหน้าโครงการ ยศกิต เรืองทวีป
บทคัดย่อ
ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลของ Sm2O3 และ Dy2O3 ที่ปริมาณความเข้มข้นต่างๆ ที่มีผลต่อสมบัติทางกายภาพและทางแสงของแก้วเทลูไรต์ แก้วตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยเตรียมแก้วในสูตร (55-x)TeO2 : 10ZnO : 35BaO : xRE (RE = Sm2O3 และ Dy2O3) เมื่อ x คือปริมาณความเข้มข้น 0.00, 0.05, 0.10, 0.50, 1.00 และ 1.50 เปอร์เซ็นต์โดยโมล แล้วนำไปหลอมที่อุณหภูมิ 950 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที โดยการเตรียมแก้วจะใช้เทคนิคหลอมที่อุณหภูมิสูงแล้วทำให้เย็นตัวอย่างยิ่งยวด จากผลการศึกษาพบว่าค่าความหนาแน่นและปริมาตรเชิงโมลของแก้วตัวอย่างไม่ขึ้นกับปริมาณความเข้มข้นของ Sm2O3 และ Dy2O3 ขณะที่ค่าการเปล่งแสงของ Sm2O3 เมื่อกระตุ้นด้วยแสงในช่วงความยาวคลื่นที่ 405 นาโนเมตร พบพีคการเปล่งแสงอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 564, 600, 646 และ 707 (สีแดง) นาโนเมตร สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับชั้นพลังจาก 4G5/2 ไปยัง 6H5/2, 6H7/2, 6H9/2 และ 6H11/2 ตามลำดับ โดยแก้วที่เจือด้วย Sm2O3 ที่ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์โดยโมล มีความเข้มการเปล่งแสงสูงสุด และค่าการเปล่งแสงของ Dy2O3 เมื่อกระตุ้นด้วยแสงในช่วงความยาวคลื่นที่ 352 นาโนเมตร พบพีคการเปล่งแสงอยู่ในช่วงความยาวคลื่น 483 (สีน้ำเงิน), 575 (สีเหลือง) and 665 (สีแดง) นาโนเมตร สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับชั้นพลังจาก 4G5/2 ไปยัง 6H15/2, 6H13/2 และ 6H11/2 ตามลำดับ โดยแก้วที่เจือด้วย Dy2O3 ที่ความเข้มข้น 1.0 เปอร์เซ็นต์โดยโมล มีความเข้มการเปล่งแสงสูงสุด
สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 85 ถนนมาลัยแมน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000
Research and Development Institute, Nakhon Pathom Rajabhat University 85 Malaiman Road, Muang, Nakhon Pathom 73000
โทร 034-261053, โทรสาร 034-261053 E-Mail : saraban_rdi@npru.ac.th