แนวทางการลดความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเห็ด
หัวหน้าโครงการ กสมล ชนะสุข
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเห็ดในจังหวัดนครปฐม 2) วิเคราะห์ความสูญเสียของระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเห็ดในจังหวัดนครปฐม และ 3) พัฒนาระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเห็ดในจังหวัดนครปฐมเพื่อลดความสูญเสีย เก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรผู้เพาะเห็ดนางฟ้าในจังหวัดนครปฐม จำนวน 19 ราย และผู้ค้าส่งเห็ดนางฟ้าในจังหวัดนครปฐม จำนวน 4 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง จำนวน 2 ราย โดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง คือ เกษตรกรผู้เพาะเห็ดนางฟ้าโรงเรือนปกติและโรงเรือนอีแวป ทำการทดลองโดยวัดน้ำหนักและความแน่นเนื้อหลังการเก็บเกี่ยวเห็ด และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเห็ด จำนวน 3 ท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเห็ดเพื่อลดความสูญเสีย
ผลการศึกษา พบว่า ระบบการจัดการโซ่อุปทานเห็ดนางฟ้าในจังหวัดนครปฐม แบ่งออก
เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก จำหน่ายเห็ดให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อเห็ดไปประกอบอาหารเพื่อรับประทานภายในครัวเรือน และประกอบอาหารเพื่อการจำหน่ายเช่น ร้านอาหารตามสั่ง และร้านขายข้าวราดแกง และรูปแบบที่ 2 ประกอบด้วย เกษตรกร และผู้ค้าส่ง จำหน่ายเห็ดให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อเห็ดไปประกอบอาหารเพื่อการจำหน่าย เช่น ภัตตาคาร และโรงแรม สำหรับระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเห็ดนางฟ้า พบว่า ระบบการจัดการโรงเรือนมีผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตเห็ด โดยโรงเรือนอีแวปมีคุณภาพและปริมาณผลผลิตเห็ดที่มากกว่าโรงเรือนปกติ คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณผลผลิต
ผลการวิเคราะห์ความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวเห็ดนางฟ้า พบว่า ความสูญเสียทางกายภาพของเห็ดในโรงเรือนปกติมีความสูญเสียที่เกิดจากการเข้าทำลายของศัตรูเห็ด ส่งผลให้ดอกเห็ดมีสภาพไม่สมบูรณ์ รูปร่างผิดปกติ มีการปนเปื้อนของเชื้อราและแบคทีเรียมากกว่าเห็ดในโรงเรือนอีแวป เนื่องจากโรงเรือนอีแวปมีระบบการควบคุมที่ดีและเหมาะสมกว่า และเมื่อวิเคราะห์อัตราการสูญเสียน้ำหนักเห็ดนางฟ้าหลังการเก็บเกี่ยว ณ ช่วงเวลาต่างกัน พบว่า ผลผลิตเห็ดจากโรงเรือนปกติมีอัตราการสูญเสียน้ำหนักมากกว่าผลผลิตเห็ดจากโรงเรือนอีแวปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ในขณะที่อัตราการสูญเสียความแน่นเนื้อเห็ดหลังการเก็บเกี่ยวของโรงเรือนปกติและโรงเรือนอีแวปไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และผลการวิเคราะห์อัตราการสูญเสียน้ำหนักและความแน่นเนื้อเห็ดนางฟ้าหลังการขนส่งไปตลาดปฐมมงคลและตลาดศรีเมือง พบว่า อัตราการสูญเสียน้ำหนักและความแน่นเนื้อเห็ดหลังการขนส่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
คณะผู้วิจัยสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเห็ดนางฟ้ามีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพระบบการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวด้วยวงจรคุณภาพ PDCA คือ 1) การจัดการการเพาะเห็ด ประกอบด้วย แรงงานในการทำก้อนเชื้อเห็ด วัตถุดิบที่ใช้เพาะเห็ด เครื่องมือที่ใช้เพาะเห็ด และโรงเรือนเพาะเห็ด 2) การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเห็ด ประกอบด้วย การเก็บเกี่ยว การลำเลียง การพักเห็ดก่อนการบรรจุ การตัดแต่ง การบรรจุเห็ดลงถุง การบรรจุถุงเห็ดใส่ในลังหรือมัดเป็นพวง การเรียงลังหรือพวงบนรถขนส่ง และการขนส่ง