วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร “ชูนวัตกรรม” ไข่มุกมรกตจากไข่ผำ
ปัจจุบันกระแสการบริโภคชานมไข่มุกนั้นได้รับความนิยมค่อนข้างสูง มีร้านชานมไข่มุกมากมายหลากหลายแบรนด์ ทั้งของบ้านเราเองและของต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะรสชาติของตัวชาที่มีความหอมหวาน บวกเข้ากับเม็ดไข่มุกที่มีความแน่นหนึบ จึงทำให้กลายเป็นจนเกิดเป็นกระแสชานมไข่มุกฟีเวอร์
จากกระแสการบริโภคนี้เองทำให้ น้องๆ นักศึกษาทีม Emeral Pearl จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้คิดค้นนวัตกรรมการเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้กับเม็ดไข่มุก นอกเหนือจากแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต จนผลงาน “ไข่มุกมรกต” ได้รับรางวัลชนะเลิศ พร้อมรับทุนการศึกษา 50,000 บาท ในการประกวด Food Innovation Contest 2018/2019 รุ่น light weight ระดับปริญญาตรี ในหัวข้อ Better Food หรืออาหารที่ดีมีประโยชน์กับสุขภาพ ซึ่งจัดโดย โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
สำหรับทีม Emeral Pearl มีสมาชิกในทีม 5 คน ได้แก่ นายอภิชาติ ตันติวัตร นางสาวธัญวรรณ เทพสงค์ นายอภิสิทธิ์ ฉิมมาลี และนายณัฐวุฒิ บุญเลิศ นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนางสาวชนิตา สว่างจันทร์ สาขานิเทศศาสตร์วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะวิทยาการจัดการ ภายใต้การดูแลของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ แสงทองพินิจ ประธานสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปรึกษาทีม Emeral Pearl
“ไข่มุกมรกต” คือ นวัตกรรมใหม่ที่เป็นการผสมผสานแบบร่วมสมัยระหว่างเม็ดไข่มุกจากแป้งมันกับผำ หรือ ไข่ผำ พืชน้ำพื้นบ้าน จนทำให้เกิดเม็ดไข่มุกสีเขียวมรกต ต่างจากเม็ดไข่มุกทั่วไปในท้องตลาดที่ส่วนมากเป็นสีดำ หรือหากมีสีอื่นก็จะเป็นสีผสมอาหาร โดยไข่มุกมรกตที่ได้จากผำหรือไข่ผำนั้นจะมีสีเขียวธรรมชาติ มีคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่าเม็ดไข่มุกทั่วไป แต่มีโปรตีนสูง มีไฟเบอร์ แคลเซียม และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากผำอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ แสงทองพินิจ ที่ปรึกษาทีม Emeral Pearl กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการนำผำหรือไข่ผำ มาใช้ในการผลิตเม็ดไข่มุกมรกตนั้น เนื่องจากได้ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนลาวครั่ง ต.ห้วยด้วน อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ซึ่งได้มีการเลี้ยงและช้อนผำหรือไข่ผำขายในจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพฯ ราคาประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนก็จะนำผำหรือไข่ผำมาปรุงอาหารซึ่งส่วนใหญ่จะเอามาแกงกะทิ ด้วยความที่ผำหรือไข่มีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ เวลาแกงก็จะทำให้น้ำดูข้นๆ เมื่อผำหรือไข่ผำสุกสีแกงก็จะออกคล้ำๆ ต่างจากตอนเป็นแบบสดๆ ทำให้ดูไม่น่ากิน ถึงจะมีรสชาติที่อร่อย แต่กลับไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นใหม่บางคนแทบไม่รู้จัก
ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ผำหรือไข่ผำ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง มีสารแอนติออกซิแดนท์ โปรตีน และแคลเซียมสูง จึงคิดว่า น่าจะนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับพืชพื้นบ้านตัวนี้ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หากพัฒนาได้สำเร็จนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ออกสู่ตลาด ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน เพราะถ้าผำหรือไข่ผำกลายเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านก็จะหันมาเลี้ยงผำเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระบบน้ำในชุมชนดีขึ้น เพราะไข่ผำจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำสะอาด ดังนั้น คนในชุมชนก็จะช่วยกันรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ กล่าวต่อว่า ได้ตั้งโจทย์ในชั้นเรียนสั้นๆ ว่า “ผำหรือไข่ผำจะนำมาทำเป็นพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อะไรให้ดูร่วมสมัย เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย” และหนึ่งในคำตอบที่ได้ก็คือ เม็ดไข่มุก เมื่อนักศึกษาได้คำตอบแล้วกระบวนการต่อไปก็คือ นักศึกษาต้องช่วยกันคิดค้นและพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม อาศัยเทคนิคและองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารที่เรียนมา ซึ่งเทคนิคที่เราใช้นั้นไม่ได้ยากจนเกินไป หรือต้องอาศัยอุปกรณ์ราคาแพง ดังนั้น หากคนในชุมชนสนใจอยากผลิตเพื่อเสริมสร้างรายได้ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะมหาวิทยาลัยฯ ยินดีให้คำแนะนำ สนับสนุนให้คนในชุมชนแปรรูปวัตถุดิบในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นายอภิชาติ ตันติวัตร ตัวแทนทีม Emeral Pearl กล่าวว่า ในชั้นเรียนอาจารย์ได้ให้โจทย์สั้นๆ สำหรับการทำวิจัยก่อนจบ ว่าทำอย่างไรให้ผำหรือไข่ผำกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์อะไรให้ดูร่วมสมัยเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตนและเพื่อนๆ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ เป็นที่ปรึกษา ได้ร่วมกันไขโจทย์ จนได้เม็ดไข่มุกเป็นคำตอบ จึงเริ่มพัฒนาสูตรโดยอาศัยเทคนิคและองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเข้ามาช่วย โดย “ไข่มุกมรกต” ที่ถูกพัฒนาขึ้นยังคงใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก ใส่ผำในปริมาณร้อยละ 40 ซึ่งไข่มุกมรกตยังคงความเหนียวหนึบของเนื้อสัมผัส กลิ่น รสที่ดี และคงความเขียวของไข่ผำ จึงทำให้ได้ไข่มุกสีเขียวมรกต หลังจากนั้นจึงได้นำผลงานเข้าร่วมประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน Food Innovation Contest 2018/2019 รุ่น light weight ระดับปริญญาตรี
“ผมและเพื่อนๆ ทุกคนรู้สึกดีใจและภูมิใจมากกับรางวัลที่ได้รับมาก ไม่คิดว่าการพัฒนาต่อยอดโจทย์ที่ได้รับในชั้นเรียนจะสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ และมันเป็นการเปิดโอกาสให้ผมและเพื่อนได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับธุรกิจชานมไขมุกด้วยครับ” นายอภิชาติ กล่าว
สุดท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันเพ็ญ กล่าวว่า ขณะนี้ กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตร “ไข่มุกมรกต” มีหลายบริษัททั้งจากภายในประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเม็ดไข่มุกมรกตจากผำหรือไข่ผำ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคตต่อไป จะเห็นได้ว่า ผลงานที่ออกมาไม่ใช่เพื่อแข่งขันชิงเงินรางวัล หรือชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฯ เพียงอย่างเดียว แต่มหาวิทยาลัยฯ มองไปถึงความเข้มแข็งของชุมชน ให้ชุมชนได้เห็นถึงช่องทางในการเพิ่มมูลค่าในวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น สามารถพัฒนาต่อยอดโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เกินกำลังของคนในชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน