ศูนย์บริการวิชาการธรรมสุทัศน์
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาบัว 4 เหล่า
ลำดับนั้นพระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า เมื่อได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ย่อมแสดงธรรมโปรดแก่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งปวง และทรงพิจารณาต่อไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณว่า จะมีผู้ใดเข้าถึงพระธรรมคุณที่ตรัสรู้ได้บ้างหรือไม่ ทรงเห็นว่า บุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางจำพวกสอนได้ บางจำพวกสอนไม่ได้
พระพุทธองค์ได้ทรงตรึกตรอง ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จึงยังทรงมิได้รับคำทูลอารธนาทีเดียว แต่ได้ทรงพิจารณาโดยพระญาณก่อนว่า เวไนยสัตว์ นั้นจำแนกเหล่าที่จะรองรับพระสัทธรรมได้เพียงใด จำนวนเท่าใด ทรงจำแนกด้วยพระญาณว่าเหล่าเวไนยสัตว์บุคคลที่จะรับพระสัทธรรมได้และไม่ได้มีอยู่ ๔ จำพวก เปรียบได้ดังดอกบัวสี่เหล่า อันหมายถึง ปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัย ที่สร้างสมมาแต่อดีตของบุคคล ซึ่งบัว ๔ เหล่านั้น คือ
บัวประเภทที่ ๑ ดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว รอแสงพระอาทิตย์จะบานวันนี้
บัวประเภทที่ ๒ ดอกบัวที่ปริ่มน้ำ จะบานวันพรุ่งนี้
บัวประเภทที่ ๓ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ยังอีก ๓ วันจึงจะบาน
บัวประเภทที่ ๔ ดอกบัวที่เพิ่งงอกใหม่จากเหง้าในน้ำ จะยังไม่พ้นภัยจากเต่าและปลา
ซึ่งบัวแต่ละประเภทนั้นเปรียบได้ดังนี้
๑. อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็วเปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำเมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
๒. วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมจะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
๓. เนยยะ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
๔. ปทปรมะ คือ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิแม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
อันดอกปทุมานั้นมีหลายหลากต่างชนิดกันไป เหมือนดังเหล่าเวไนยสัตว์ที่จะได้รู้ธรรมนั้นเช่นกัน ทั้งผู้มีกิเลสมาก ผู้มีกิเลสปานกลาง ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ฯลฯ
บุคคลที่เปรียบได้กับดอกบัวดอกที่ ๑, ๒, ๓ นั้นสามารถให้อนุศาสโนวาทแล้วสามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้เร็วช้าต่างกันก็ด้วยปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัย ที่ต่างกัน ซึ่งจำแนกเป็น พุทธเวไนย์ สาวกเวไนย์ ธาตุเวไนย์ ตามลำดับ ส่วนบุคคลซึ่งเปรียบเป็นบัวประเภทที่ ๔ ไม่สามารถบรรลุอะไรได้ในชาตินี้ ด้วยขาดซึ่งปัญญา แต่จะเป็นอุปนิสัย วาสนา บารมีต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อทราบด้วยพระญาณดังนั้นแล้ว ด้วยพระกรุณาคุณ ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมีอยู่บ้าง เมื่อเล็งเห็นเหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอนธรรมให้แก่สัตว์ทั้งปวง จึงรับอารธนาของท้าวสหัมบดีพรหม
: อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.